TRACHU.COM : ชุมชนออนไลน์นักกฎหมายไทย

ชุมชนกฎหมาย => ถามตอบปัญหากฎหมายสำหรับประชาชน => ข้อความที่เริ่มโดย: mianminotanui ที่ 26 มกราคม 2016, 12:34:03 pm



หัวข้อ: สอบถามเรื่องบ้านครับ
เริ่มหัวข้อโดย: mianminotanui ที่ 26 มกราคม 2016, 12:34:03 pm
ผมพึ่งจะซื้อบ้านครับเป็นบ้านมือสองเทาว์โฮม ทำการโอน เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ติดปัญหาตรงที่่ว่า บ้านที่ติดกัน ปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้ในบ้านส่วนของเค้า แต่ กิ่งก้านของต้น ข้ามมาทางบ้านผม ณ.ก่อนที่จะตกลงซื้อบ้านผมได้มีเข้าไปคุย ให้เค้าช่วยจัดการหน่อย แต่เค้าบอกให้ผมจัดการเองเค้าอนุญาติ โดยให้ทางเราเป็นคนออกค่าใช้จ่ายเอง ผมก็ตกลง ยอมจ่ายค่าตัดแต่งกิ่งเองในส่วนที่ล่ำเข้ามาในบ้านผม แต่ณ.ปัจจุบัน ข้างบ้านกลับคำไม่ยอมให้ตัดต้นไม้เค้า ผมอยากถามว่าผม ควรทำอย่างไรดีครับ เนื่องจาก ผมเกรงว่าต้นไม้อาจล้มมาทางบ้านผมได้ ขอบคุณครับ


หัวข้อ: Re: สอบถามเรื่องบ้านครับ
เริ่มหัวข้อโดย: มโนธรรม ที่ 26 มกราคม 2016, 07:56:59 pm
"ละเมิดแดนกรรมสิทธิ์

ตาม ปพพ. ม.1347  ก็ให้บอกกล่าวให้เขาตัดในเวลาอันควร  ถ้าไม่ตัดเราตัดออกได้  แต่ในทางปฏิบัติ  การไปตัดออกเอง  คงถูกดำเนินคดีข้อหาทำให้เสียทรัพย์ได้  แม้ไม่มีความผิด   แต่การถูกฟ้องร้องในคดีอาญา  ก็ไม่ควรนำตัวไปเสี่ยง ให้เปลืองตัวโดยไม่จำเป็น....เมื่อแจ้งให้ตัดออกแต่ไม่ยอมตัดออก   ก็ต้องฟ้องฐานละเมิด และรุกล้ำแดนกรรมสิทธิ์  เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย  และให้ตัดต้นไม้ที่อาจเป็นอันตรายได้   ก่อนฟ้องควรมีหนังสือเตือนก่อน ครับ
มาตรา 1347  บัญญัติไว้ว่า “ เจ้าของที่ดินอาจตัดรากไม้ซึ่งรุกเข้ามาจากที่ดินติดต่อและเอาไว้เสีย     ถ้ากิ่งไม้ยื่นล้ำเข้ามา   เมื่อเจ้าของที่ดินได้บอกผู้ครอบครองที่ดินติดต่อให้ตัดภายในเวลาอันสมควรแล้ว  แต่ผู้นั้นไม่ตัด     ท่านว่าเจ้าของที่ดิน ตัดเอาเสียได้”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1846/2500
 อัยการจังหวัดสกลนครและนายบุตร บุญเฮ้า
     โจทก์
 
นายสุวิทย์ ไชยบุญเรือง
    จำเลย
 
 

 

กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 324

ป.พ.พ. มาตรา 1347, 1335, 420, 1337

 

          ในทางแพ่ง ถ้าจำเลยได้บอกกล่าวโจทก์เสียก่อนและให้เวลาพอสมควรแล้ว จำเลยก็อาจตัดกิ่งไม้ของโจทก์ที่ยื่นล้ำที่ของจำเลยเข้าไปนั้นได้

        ส่วนในทางอาญา ต้องพิจารณาเจตนาของจำเลยเป็นเรื่องๆไป ถ้าตามพฤติการณ์ที่ปรากฏเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาทำผิดทางอาญา แม้จำเลยไม่ได้บอกกล่าวโจทก์เสียก่อน จำเลยก็ตัดกิ่งไม้ที่ยื่นรุกล้ำเข้ามาในที่ของตนได้ เพราะเป็นเรื่องที่จำเลยเพียงแต่กระทำการป้องกันกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตนตามที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้โดยทั่วๆ ไป หากแต่จำเลยมิได้ปฏิบัติการให้ครบถ้วนตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1347 เท่านั้น(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2501)

 

________________________________

 


          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยตัดฟันกิ่งต้นงิ้วของโจทก์ร่วมเสียหายโดยไม่มีอำนาจจะทำได้ ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 324 จำเลยรับว่าได้ตัดกิ่งไม้ของโจทก์ร่วม แต่แก้ว่ากิ่งต้นไม้ปกคลุมเข้ามาในที่จำเลย ทำให้พืชผลที่ปลูกไว้ไม่งอกงาม ก่อนตัดได้บอกเจ้าของแล้ว 2 ครั้ง เจ้าของเฉยเมย จำเลยจึงเข้าตัดเองไม่มีเจตนาจะทำให้เสียทรัพย์ประการใด


        ศาลชั้นต้นฟังว่า ก่อนตัดจำเลยได้ขอร้องให้โจทก์ร่วมตัดภายในเวลาอันสมควรแล้ว เมื่อโจทก์ร่วมเพิกเฉยเสีย จำเลยจึงมีสิทธิตัดกิ่งไม้ที่ล้ำเข้ามาในบ้านเขตของจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1347 จำเลยไม่ควรมีผิดพิพากษาให้ยกฟ้อง


        โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่เชื่อว่า ก่อนตัดกิ่งงิ้วจำเลยได้บอกฝ่ายผู้เสียหายให้ทราบ พิพากษากลับ ว่าจำเลยผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 324 ให้ปรับจำเลย 200 บาท


        จำเลยฎีกา ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยได้ตัดกิ่งงิ้วของโจทก์ร่วมโดยไม่ได้บอกกล่าวโจทก์ร่วมเสียก่อน แต่ศาลฎีกาเห็นว่าการที่โจทก์ปล่อยให้กิ่งงิ้วของโจทก์รุกล้ำเข้ามาในที่ของจำเลยนั้นเป็นการละเมิดสิทธิเหนือพื้นดินของจำเลยตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1335 ประกอบด้วย มาตรา 420 ซึ่งตาม มาตรา 1337อนุญาตไว้ว่าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์เช่นจำเลย มีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนให้สิ้นไปได้ หากแต่ มาตรา 1347 บัญญัติเงื่อนไขต่อไปว่า ก่อนที่จะตัดกิ่งไม้ที่ยื่นล้ำเข้ามา เจ้าของที่ดินต้องบอกให้ผู้ครอบครองที่ดินติดต่อตัดเสียภายในเวลาอันสมควรเท่านั้นการที่จำเลยไม่ได้บอกกล่าวโจทก์ร่วมเสียก่อน จึงเป็นเพียงการละเว้นที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายแพ่งวางไว้เท่านั้น ส่วนการที่จะเอาผิดทางอาญาแก่บุคคลซึ่งอยู่ในฐานะอย่างจำเลยในคดีนี้ ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่าต้องพิจารณาเจตนาของจำเลยเป็นเรื่อง ๆ ไปอีกชั้นหนึ่ง สำหรับเรื่องนี้ตามพฤติการณ์ที่ปรากฏ เห็นว่ายังไม่พอฟังว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดทางอาญา เพราะจำเลยเพียงแต่กระทำการป้องกันกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตนตามที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้โดยทั่ว ๆ ไปหากแต่จำเลยมิได้ปฏิบัติการให้ครบถ้วนตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1347 เท่านั้น


         ศาลฎีกาพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

 

 

( จักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ - ธรรมบัณฑิตสิทธิศฤงคาร - ดุลยกรณ์พิทารณ์ )

 



หัวข้อ: Re: สอบถามเรื่องบ้านครับ
เริ่มหัวข้อโดย: mianminotanui ที่ 28 มกราคม 2016, 02:11:03 pm
ขอบคุณมากครับ คุณทนายมโนธรรม